
ต้องยอมรับว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาของการแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้หลายบริษัทต้องเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน มีทั้งให้พนักงานทำงานที่บ้านหรือ Work From Home แบบ 100 % หรือบางบริษัทอาจเป็นแบบผสมผสาน หรือ Hybrid Working โดยรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปนั้น อาจส่งผลทำให้ความรู้สึกผูกพันต่อองค์รวมไปถึงเพื่อนร่วมงานอาจเปลี่ยนแปลงไปด้วย
นับเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งสำหรับ HR และองค์กรว่า หากต้องปรับนโยบายให้คนกลับเข้ามาทำงานในออฟฟิศเพิ่มมากขึ้น ต้องเตรียมการอย่างไร ให้การมีส่วนร่วมระหว่างองค์กรและพนักงานนั้นกลับมาเป็นเหมือนเดิมหรือเพิ่มขึ้นอีกครั้ง โดยที่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยร่วมกัน
สิ่งที่ WellExp อยากให้ HR หรือองค์กรคำนึงถึงก่อนมีนโยบายให้พนักงานกลับมาเข้ามาทำงานในออฟฟิศนั้น คือการให้คำตอบกับ 3 คำถามนี้ให้ได้
ทำอย่างไรเพื่อให้ทุกคนกลับมาทำงานได้อย่างปลอดภัย? ในที่นี้คือทางบริษัทจะมีกระบวนการป้องกันการแพร่เชื้ออย่างไร ทั้งการตรวจสอบ Time Line ระเบียบปฏิบัติก่อนเข้าออฟฟิศ การฆ่าเชื้อทำความสะอาด และระยะห่างในการทำงานร่วมกัน
การทำงานแบบ Hybrid working ยังคงต้องมีหรือไม่? พนักงานคนใดที่จะยังคงต้องทำงาน WFH และคนไหนบ้างที่จะต้องกลับเข้าออฟฟิศเต็มเวลา หรือแผนกไหนที่สามารถทำงานที่ออฟฟิศเป็นบางเวลาบ้าง นับเป็นเรื่องที่ต้องปรึกษาหารือกันว่านโยบายใดที่เหมาะสมกับแผนกหรือพนักงานแต่ละคน
คุณค่าของการมาทำงานที่ออฟฟิศคืออะไร? สำหรับพนักงานที่ห่างหายจากการทำงานที่ออฟฟิศไปนาน อาจรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องกลับเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศก็ได้ สิ่งที่ HR และองค์กรควรทำคือการสร้าง “Workplace Value Proposition” ให้พนักงานรู้สึกถึงคุณค่าของสถานที่ทำงานที่ได้มาทำร่วมกัน เพื่อตอบคำถามในใจของพนักงานทุกคนว่า “ทำไมพวกเขาถึงต้องกลับเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศ?”
สำหรับการพัฒนา “Workplace Value Proposition” สำหรับพนักงานและองค์กรนั้น สามารถพิจารณาจากข้อดีของการทำงานร่วมกัน 4 ประการ ที่ต้องอาศัยการพัฒนาเป็นลำดับขั้น หรือแนวคิดที่เรียกว่า 4 C’s ได้แก่ Connection, Collaboration Creativity และ Culture
1. เรามาทำงานที่องค์กรเพื่อสร้างสัมพันธ์ (Connection)
เพราะด้วยธรรมชาติของมนุษย์นั้นเป็นสัตว์สังคม ต้องการการอยู่ร่วมกัน มีปฏิสัมพันธ์ซึ่งเป็นพื้นฐานความต้องการของมนุษย์ การมาทำงานด้วยกันที่ออฟฟิศจึงเป็นการตอบโจทย์ให้มนุษย์ได้มีพื้นที่สร้างสัมพันธ์อันดีร่วมกัน แต่สิ่งที่ HR และองค์กรต้องทำนั้นคืออำนวยความสะดวกทั้งในเรื่องสถานที่ที่เอื้อต้องการสร้างปฏิสัมพันธ์ เทคโนโลยีที่เชื่อมคนทำงาน Hybrid ได้ เพราะแท้ที่จริงแล้วการส่งเสริมเสริมความสัมพันธ์นั้นเป็นเรื่องไม่ยาก แต่การรักษาความสัมพันธ์ในองค์กรให้ยั่งยืนนั้นเป็นสิ่งที่ท้าทายกว่า โดย HR และองค์กรสามารถมุ่งเน้นในการสร้าง 3 เครือข่ายความสัมพันธ์ในสังคมองค์กร ที่เรียกว่า Bonding, Bridging, Linking
Bonding ถ้าเป็นความหมายตรงตัวคือพันธะ แต่ในความหมายของการเชื่อมสัมพันธ์ในสังคมนั้นเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างพนักงานในแผนกหรือทีมเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นด้วยบทบาทหน้าที่และลักษณะงานที่ทำร่วมกัน แต่รวมไปถึงความเป็นความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันหรือเป็น Team Work เพื่อให้งานที่ทำนั้นสำเร็จลุล่วง
Bridging ในความหมายตรงตัวคือการข้าม ในที่นี้ก็เปรียบเสมือนหนทางในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ที่ต่างคนต่างมีความแตกต่าง มีที่มาไม่เหมือนกัน ทั้งที่อยู่ในแผนกเดียวกันและต่างแผนกด้วย
Linking ความหมายตรงตัวคือการเชื่อมโยง ในที่นี้เปรียบเสมือนหนทางการเชื่อมโยงคนหลายระดับในองค์กรให้เข้าไว้ด้วยกัน
2. เรามาทำงานร่วมกัน เพื่อให้งานสำเร็จลุล่วง (Collaboration)
ความสัมพันธ์จะดำเนินไปไม่ได้เลยหากขาดความร่วมมือ การทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งย่อมต้องอาศัยความสามารถของหลายฝ่ายในการทำให้งานนั้นสำเร็จลุล่วง เราต้องถึงต้องมีห้องประชุมในการถกเถียงถึงประเด็นต่างๆ เพื่อหาทางออก แน่นอนว่าการประชุมผ่านออนไลน์ยาม WFH นับเป็นความสะดวกก็จริง แต่เมื่อปิดประชุมลงเมื่อใด ทุกคนต่างก็หันกลับไปในพื้นที่ส่วนตัว ขาดซึ่งการติดต่อสื่อสารหรือการปรึกษา ซึ่งต่างกับบรรยากาศหลังประชุมยามที่เราทำงานอยู่ด้วยกัน
สิ่งที่ทาง HR และองค์กรควรคำนึงคือ หาสิ่งอำนวยความสะดวกให้พนักงานในทีมสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น เหมาะสมสำหรับการกลับมาทำงานที่ยังคงต้องรักษาระยะห่างกัน รวมถึงเหมาะสมสำหรับบางคนทีมที่มีรูปแบบทำงานทั้งในออฟฟิศและอยู่บ้าน
3.เรามาทำงานเพื่อต่อเติมความคิดสร้างสรรค์ด้วยกันได้ (Creativity)
คุณค่าอีกประการที่ได้มาจากการทำงานรวมกันคือก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ได้ แต่ความคิดสร้างสรรค์ในที่ทำงานจะเกิดขึ้นไม่ได้หากขาดความความสัมพันธ์อันดี และขาดความร่วมมือกันในการทำงาน ดังนั้นการกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้น ต้องให้พนักงานผ่านด่าน 2 ข้อแรก
ความคิดสร้างสรรค์ในที่ทำงานมักเกิดขึ้นจากการค้นพบที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและมาจากการทำงานร่วมกันด้วย โดยอาจมาจากการคุยแลกเปลี่ยนตามโถงทางเดิน ยามที่แต่ละคนพักดื่มกาแฟ หรือในวงสนทนาระหว่างทานข้าว สิ่งที่ทาง HR และองค์กรควรคำนึงคือ สิ่งที่อำนวยความสะดวกให้พนักงานได้พบปะพูดคุยกันอย่างปลอดภัย ได้มีพื้นที่ระดมความคิดได้อย่างสร้างสรรค์ กำหนดช่วงพักเบรกให้ทุกคนมาผ่อนคลายร่วมกันไม่ว่าจะเป็นผ่านหน้าจอหรือหน้าจริง
4.เรามาทำงานเพราะเราเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับอง์กร (Culture)
วัฒนธรรมองค์กรจะเป็นภาพสะท้อนชั้นดี ว่าทำไมพนักงานทุกคนถึงต้องมาทำงานที่องค์กรนั้น หากองค์กรสามารถสร้างทัศนคติ ค่านิยม และความเชื่อต่อพนักงานทุกคนในองค์กร ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน โดยสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงคือการสื่อสารให้พนักงานรับรู้และตระหนักว่าพวกเขามีบทบาทสำคัญเพียงใด ในเป้าหมายและความสำเร็จขององค์กร
เมื่อเตรียมวิธีการสร้างคุณค่าในการทำงานครบถ้วน ขั้นตอนต่อไปที่ขาดไม่ได้เลย คือการสร้างการมีส่วนรวมในคุณค่าขององค์กรได้ ด้วย 4 วิธีด้วยกัน
1. สร้างช่องทางสื่อสารกับองค์กรที่เขาถึงได้ง่าย
พนักงานจะรู้สึกถึงการมีส่วนร่วมได้อย่างไร หากองค์กรไม่สื่อสารหรือไม่ถ่ายทอดให้พนักงานได้ทราบ ดังนั้นสิ่งที่ HR ต้องทำคือการหาเทคโนโลยีที่สามารถสื่อสารไปยังพนักงานได้ครั้งมากๆ และได้ประสิทธิภาพในคราวเดียวกัน โดยที่สามารถวัดผลการตอบรับว่าสิ่งที่เราได้สื่อไปนั้น พนักงานได้รับรู้ทั่วกันหรือไม่
2.พร้อมรับฟังความต้องการที่แตกต่าง
เมื่อมีช่องทางให้ HR และองค์กรได้สื่อสาร ก็ควรมีช่องที่รับฟังถึงความต้องการหรือปัญหาของพนักงานด้วย พนักงานแต่ละคนนั้นต่างที่มา ความรู้สึกนึกคิดและความต้องการนั้นต่างกัน ถึงเวลาที่องค์กรต้องรับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงในบรรยากาศการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป สิ่งที่พนักงานต้องการเพื่อให้การทำงานของพวกเขามีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยอาจทำเป็นการสำรวจความคิดเห็นของพนักงาน ถึงความต้องการที่เขาอยากได้รับ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องนโยบายการทำงาน ความต้องการสวัสดิการของแต่ละคน เป็นต้น
3. สร้างกิจกรรมที่สามารถทำร่วมกัน
เมื่อสร้างช่องทางสื่อสารและรับฟังความต้องการของพนักงานแต่แต่ละคนแล้วนั้น ขั้นตอนต่อไปคือการสร้างกิจกรรมระหว่างพนักงานให้มีโอกาสได้ทำร่วมกัน เพื่อสร้างสัมพันธ์ในระดับองค์กรให้แน่นแฟ้นกันมากขึ้น โดยกิจกรรมนั้นต้องเอื้อให้พนักงานที่ทำงานทั้งในและนอกออฟฟิศสามารถร่วมกิจกรรมได้
4.ให้รางวัลเป็นแรงจูงใจ
การสร้างประสบการณ์ทำงาน ให้พนักงานพร้อมรับกับการกลับมาทำงานในบรรยากาศออฟฟิศ หรือการทำงานแบบ Hybrid Working จะเป็นไปไม่ได้เลยหากขาดการมีส่วนร่วมของพนักงาน (Employee Engagement) และสิ่งที่จะกระตุ้นพฤติกรรมการมีส่วนร่วมได้ดีก็คือการให้รางวัลจูงใจ ในขณะเดียวกันรางวัลที่ได้รับ ต้องเป็นสิ่งที่พนักงานต้องการด้วย วิธีการนี้ถึงจะประสบผลสำเร็จ แต่จะทำอย่างไรเมื่อพนักงานแต่ละคนล้วนต่างที่มา ความต้องการต่างกัน บางคนอาจยังต้องทำงานแบบ Hybrid Working ด้วยเหตุนี้ HR และองค์กรจึงต้องพิจารณาถึงสวัสดิการหรือสิทธิประโยชร์รูปแบบใหม่ที่เหมาะสมกับพนักงานแต่ละคน
สุดท้ายนี้ ไม่ว่านโยบายขององค์กรจะเป็นไปในแนวทางใดก็ตามสิ่งสำคัญที่ฝากไว้คือ One Size Fit All จะใช้ไม่ได้ในโลกนับจากนี้ ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยของของการทำงานที่จะเปลี่ยนไปเป็น Hybrid Working มากขึ้น หรือสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่แต่ละคนได้รับผลกระทบ ถึงเวลาที่ทุกฝ่ายในองค์กรอาจต้องร่วมพูดคุย เพื่อกำหนดแนวทางที่เหมาะสมสำหรับพนักงานแต่ละคน ซึ่งนอกจากจะช่วยส่งเสริมคุณค่าในการทำงาน การที่ทุกฝ่ายได้หันหน้าร่วมพูดคุยตัดสินใจสิ่งๆ ต่าง ก็เป็นหนทางเพิ่มพูนความเป็นอยู่และความสัมพันธ์อันดีระหว่างพนักงานกับองค์กรได้
ข้อมูลอ้างอิง :
https://reba.global/content/how-to-rebuild-the-employee-experience-for-employees-going-back-to-the-workplace
https://fridaypulse.com/rebuilding-core-work-relationships-while-returning-to-the-office/
HTTPS://WWW.GALLUP.COM/WORKPLACE/349772/GOING-BACK-WORK-OFFICE-WORTH.ASPX
…………………………………………………………………………
WellExp นวัตกรรมแพลตฟอร์มสวัสดิการรูปแบบใหม่ ที่ช่วยให้พนักงานได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ผ่านกระบวนการสร้างแรงจูงใจ ที่จะสามารถพัฒนาบุคลากร ฝ่าย และองค์กรได้
“ให้ WellExp จูงใจพนักงานแทนคุณ”