
ในช่วงสถานการณ์โควิด ถือเป็นช่วงที่ทุกคนต้องปรับตัวกันพอสมควร ต้องเปลี่ยนมาทำงานที่บ้าน ซึ่งหลายคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เราทำงาน “หนัก” ขึ้น กว่าเดิม แต่ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?
นี่เป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิด เพราะไม่เคยเจอกับตัวเอง เราพบว่าหลายคน เมื่อต้องปรับตัวมา Work from home จะทำให้รู้สึกเราเหนื่อยมากขึ้น เนื่องจากเราไม่สามารถแยก Work-Life Balance ของการใช้ชีวิตและการทำงานออกจากกันได้
แม้ว่าการ Work from home นั้น ดูเหมือนจะทำให้เรามีเวลามากขึ้น ไม่ต้องรีบตื่นเช้า ไม่ต้องเสียเวลาแต่งตัวเพื่อเดินทาง หรือ เจอรถติด เราดูเหมือนมีเวลาเหลือเฟือ เช่นมีเวลานอน , มีเวลาออกกำลังกาย แต่กลับกัน สิ่งที่พบคือ เรากลับทำงาน “เต็มเวลา”มากขึ้น เพราะหลังจากลืมตาตื่นเพียงไม่กี่นาที เราก็สามารถเริ่มงานได้เลย และ เราไม่มีเวลาพักชัดเจนเหมือนตอนทำงาน
โดยเฉพาะหากใครเป็น มนุษย์ Perfectionist ที่ไม่ชอบค้างงาน ต้องการความสมบูรณ์ ไม่อยากทิ้งงานไว้ คนกลุ่มนี้หากทำงานที่ออฟฟิศ เมื่อหมดเวลางานคุณก็ต้องเดินทางกลับบ้าน แต่การ Work from home ทำให้คุณไม่ยอมถอนตัวจากการทำงาน ส่งผลให้เกิดการทำงานมากกว่าเดิม เหนื่อยล้ากว่าเดิม จนเกิดเป็น ภาวะ Burn Out ได้ แม้ทำงานที่บ้านก็ตาม
ภาวะ Burn Out คืออะไร?
ภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burnout Syndrome) หรือ ‘ภาวะเหนื่อยล้าจากการทำงาน” จะมีลักษณะคล้ายโรคซึมเศร้า เช่น รู้สึกเครียดอยู่ลึกๆ รู้สึกหดหู่ ขาดแรงจูงใจ หงุดหงิด อ่อนแรง ไม่มีสมาธิ เป็นต้น
ในตอนนี้ ภาวะ Burnout ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะการไปทำงานที่ออฟฟิศเพียงอย่างเดียว แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้ แม้เราจะทำงานที่บ้านก็ตาม ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุเช่น
ทำงานหนักจนไม่มีเวลาพักผ่อนอย่างเพียงพอ
การไม่สามารถปรับสมดุลการใช้ชีวิตส่วนตัวให้เหมาะสมกับงาน
รู้สึกกดดัน และไม่เคยชิน ที่ต้องปรับตัวอย่างรุนแรงกระทันหัน ในขณะเดียวกันก็ต้องทำงานให้ได้ดีเท่าเดิม
ความเครียดที่เกิดจากองค์กรขาดความมั่นคง ความชัดเจนในนโยบายการบริหาร
ความเครียดที่เกิดจากชีวิตขาดความแน่นอน มองไม่เห็นคำตอบว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จะสิ้นสุดเมื่อใด จึงจะสามารถกลับไปใช้ชิวิตดังเดิม
สถานที่ไม่เหมาะกับการทำงาน ยังต้องรับผิดชอบความเป็นอยู่ภายในบ้าน แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องพยายามแบ่งเวลา แบ่งสมองเพื่อทำงานให้สำเร็จ
ใครที่รู้ตัวว่า เริ่มมีอาการ Burnout แล้ว จากสาเหตุข้างต้น ก็ยังสามารถรักษาให้หายได้ด้วยตัวเอง ด้วยวิธีง่ายๆดังนี้
ลองปรับทัศนคติ ในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลง และ ปล่อยวางเรื่องวิตกกังวล โดยแก้ไขอะไรไม่ได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดความ “เครียด “ ต้นเหตุสำคัญของภาวะ Burnout
ควรกำหนดเวลาทำงานร่วมกัน กับที่ทำงาน เพราะทุกคนจะต้องมีการประสานงานร่วมกัน ซึ่งถ้าคนหนึ่งทำงาน แต่อีกคนกำลังพัก ก็จะทำให้การทำงานไม่มีประสิทธิภาพ เกิดความเครียดตามมา ควรต้องตกลงกันก่อนว่าจะทำงานเวลาไหน และพักเมื่อไหร่ หากกำหนดได้อย่างตรงกัน ก็จะลดช่องว่างของปัญหาไปได้ ช่วยให้ติดต่อกันได้ง่ายขึ้น
จัดพื้นที่ให้เหมาะกับการทำงานโดยเฉพาะ หลายคนเอาคอมพิวเตอร์มานั่งทำงานบนเตียง หรือ การตื่นมาแล้วทำงานเลย ไม่อาบน้ำหรือแต่งตัวให้ดี ก็จะทำให้สมองตื่นตัวไม่เต็มที่ ควรจัดที่ทางในการทำงานให้เป็นระเบียบ อาบน้ำแต่งตัวให้เหมือนอย่างที่คุณทำตอนมาทำงาน เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม ให้สมองสั่งการว่าพร้อมที่จะเริ่มงานในเช้าวันใหม่อย่างสดใส มีประสิทธิภาพ
พักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟมากจนเกินไป
ปรับสมดุลให้กับชีวิต โดยแบ่งเวลาทำงานให้ชัดเจน ควรมีการแบ่งเวลาสำหรับพักผ่อน พักสายตา ผ่อนคลายเป็นบางช่วง เหมือนการทำงานข้างนอก
คลายความเครียดด้วยการทำกิจกรรมที่คุณชอบ เอาเวลาที่ไม่ต้องเดินทางไปออฟฟิศ มาออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ชอบ อย่าใช้เวลาไปกับการทำงานแต่เพียงอย่างเดียว
ลดการใช้อุปกรณ์สื่อสาร และจำกัดเวลาการใช้โซเชียลมีเดีย เพราะการที่คุณออนไลน์ตลอด เป็นเสมือนการเปิดช่องทางให้ทุกการสื่อสาร รวมทั้งเรื่องงานเข้าหาได้อย่างไม่เป็นเวลา
เพียง 7 ข้อง่ายๆ ที่จะช่วยในการปรับสมดุลชีวิต จัดสรรเวลา ให้เรามีวินัยทั้งการทำงาน และการดูแลตัวเอง ครบในทุกๆโหมด รวมทั้งปล่อยวางความวิตกกังวลต่างๆ ที่ยังมาไม่ถึง โฟกัสการทำปัจจุบันให้ดีที่สุด
ทั้งหมดนี้ ก็อาจจะช่วยให้เราพ้นรอดสภาวะ Burnout และพร้อมกลับทำงานอย่างมีความสุขได้อีกครั้ง เมื่อได้ชีวิตปกติกลับมา