
ในปัจจุบัน ตลาดแรงงานมีความผันผวนอย่างเห็นได้ชัด หลังจากวิกฤติการณ์พนักงานส่วนใหญ่ต่างมองหางานที่สามารถตอบสนองกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปองค์กรต่าง ๆ จึงต้องเผชิญกับความท้าทายในการสรรหาบุคลากรที่มีความสามารถและต้องเผชิญกับการหมุนเวียนพนักงานที่เพิ่มมากขึ้น
จากรายงานล่าสุดของ Mckinsey พบว่า 40% ของผู้ตอบแบบสำรวจใน 6 ประเทศนั้น ไม่มีความสุขในการทำงานและกำลังพิจารณาที่จะลาออกจากงานในอนาคตอันใกล้ ในขณะที่คนกว่า 4 ล้านคนในสหรัฐฯ ลาออกจากงานในเดือนมิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา และจากผลสำรวจของ Ceridian พบว่า 61% ของพนักงานทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะลาออก โดย 38% เปิดรับโอกาสใหม่ที่เข้ามา ในขณะที่ 23% กำลังมองหางานใหม่อย่างจริงจัง
WellExp จึงได้รวบรวม 9 สัญญาณที่สำคัญของพนักงาน ที่มีแนวโน้มหมดไฟในการทำงาน และมีโอกาสที่จะลาออก เพื่อให้ HR และองค์กรเตรียมวิธีการแก้ไขเพื่อรักษาบุคลากรที่สำคัญขององค์กรไว้
1. มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในชีวิต
การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิต เป็นตัวเร่งที่สำคัญที่ทำให้พนักงานอาจจำใจต้องลาออก เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลง เช่น การแต่งงานที่จำต้องย้ายที่ทำงานตามอีกฝ่าย การมีบุตรที่อาจต้องเปลี่ยนลักษณะการทำงานเพื่อให้เข้ากับบทบาทหน้าที่ที่เพิ่มขึ้น รวมไปถึงพนักงานที่มีบทบาทเป็นผู้ปกครอง อาจต้องมีการโยกย้ายที่ทำงานตามสถานศึกษาของบุตร รวมถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับสถานะทางการเงิน เช่น การซื้อหรือผ่อนบ้าน คอนโดหรือรถยนต์ ที่ต้องใช้ทุนทรัพย์ค่อนข้างมาก ทำให้พนักงานมองหางานใหม่ที่สามารถช่วยให้การสถานะทางเงินนั้นคล่องตัวขึ้น
2. เพิ่งสำเร็จการศึกษาในวุฒิปริญญาที่สูงขึ้น หรือได้รับใบประกาศนียบัตรต่างๆ
โดยปกติ การศึกษาเพิ่มเติมเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าพนักงานต้องการ Upskill ตนเองให้มีความรู้ความสามารถมากขึ้น แน่นอนว่าเมื่อมีทักษะที่เพิ่มขึ้น พนักงานส่วนใหญ่ก็มีแนวโน้มในการต้องการผลตอบแทนที่เหมาะสมกับทักษะที่ตนเองได้ลงทุนลงแรงฝึกฝน หากตำแหน่งเดิมไม่ตอบโจทย์ทั้งทักษะและความต้องการ พนักงานก็มีแนวโน้มที่จะหางานใหม่ที่ตอบสนองความต้องการของตนเองได้
3. ปลีกตัวบ่อย ไม่ค่อยเข้าร่วมกิจกรรมขององค์กร เมื่อองค์กรมีการวางแผนกิจกรรมหรืออบรมต่างๆ ที่ต้องมีการจองตารางเวลาของพนักงานล่วงหน้าเป็นเดือน พนักงานที่มีแผนลาออกมักจะบ่ายเบี่ยง ลังเล หรือมีเหตุผลในการไม่ขอเข้าร่วม เพราะรู้ตัวว่าอาจไม่สามารถอยู่เข้าร่วมกิจกรรมในวันนั้นได้ นอกจากนี้ พนักงานอาจหลีกเลี่ยงกิจกรรมสังสรรค์กับเพื่อนร่วมงานหรือปฏิเสธการเข้าร่วมงานเลี้ยงของบริษัท เพราะพวกเขาต้องการหลีกเลี่ยงคำถามที่น่าอึดอัดใจจากผู้จัดการและเพื่อนร่วมงานก็เป็นได้
4. ใช้สิทธิ์วันลาให้ได้มากที่สุด
สำหรับพนักงานที่มีการวางแผนที่จะลาออก สิ่งหนึ่งที่พวกเขาต้องรีบจัดการคือ ใช้สิทธิ์วันลาที่มีอยู่ให้หมดไป ไม่ว่าจะเป็นการลายาวเพื่อพักร้อนจริงๆ หรืออาจลาไปเพื่อสัมภาษณ์งานหรือเข้ารับการอบรมจากบริษัทใหม่ที่ตัวได้ตอบรับ หรือการลากิจต่างๆ เพื่อไปทำธุระส่วนตัวของตนเองให้เสร็จสิ้น ก่อนไปเริ่มงานใหม่เพื่อจะได้ทุ่มเทให้กับองค์กรใหม่ได้เต็มประสิทธิภาพ ไม่มีกิจธุระใดๆ มาทำให้ต้องกังวล
5. ไม่เต็มใจที่จะทำโครงการระยะยาว
การรับผิดชอบในโครงการระยะยาว เป็นโอกาสที่ทำให้เกิดความก้าวหน้าทางอาชีพได้ พนักงานที่ต้องการเติบโตในงานที่ทำอยู่ส่วนใหญ่จะกระตือรือร้นที่อยากมีส่วนร่วมกับโครงการระยะยาว ในขณะที่พนักงานที่มีการวางแผนลาออก อาจแสดงท่าทีบ่ายเบี่ยงที่จะรับผิดชอบในโครงการที่ต้องใช้เวลานาน เพราะพวกเขาจะไม่มีส่วนได้เสียกับงาน และอาจเป็นภาระผูกพันจนไม่สามารถลากออกอย่างที่ตนเองตั้งใจไว้ได้
6. รับสายส่วนตัวมากขึ้น
พนักงานที่มีแนวโน้มลาออก แน่นอนว่าต้องพยายามหางานใหม่ที่ตอบสนองความต้องการของตนเองได้ พนักงานดังกล่าวจึงมักส่งใบสมัครไปยังบริษัทต่างๆ ที่ตนเองสนใจ และส่วนใหญ่การสัมภาษณ์งานจะเกิดในช่วงเวลาทำการปกติเท่านั้น ดังนั้นหากมีพนักงานที่มักมีโทรศัพท์เข้าและปลีกตัวออกไปคุยส่วนตัวมากกว่าปกติ อาจหมายถึงการนัดสัมภาษณ์งาน หรือมีการเข้าร่วมสัมภาษณ์ออนไลน์ทางโทรศัพท์ก็เป็นได้
7. แรงจูงใจในการทำงานลดลง
Productivity ถือเป็นสิ่งที่บ่งบอกประสิทธิภาพในการทำงาน ความทุ่มเทกับงานที่ทำ รวมถึงมีความสำคัญมากในการประเมินผลงาน พนักงานส่วนใหญ่ย่อมให้ความสำคัญและรักษาประสิทธิภาพใน Productivity ของตนเอง แต่พนักงานที่มีแนวโน้มลาออก แน่นอนว่าย่อมหมดแรงจูงใจ เกิดภาวะหมดไฟในการทำงาน ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงาน และทำให้ระดับผลงานที่ออกมานั้นลดลงทั้งจำนวนและประสิทธิภาพ หรือพนักงานอาจทำขั้นต่ำเท่าที่จำเป็นกับงานเท่านั้น
8. ขาดความสนใจในการพัฒนาตนเอง
พนักงานที่กระตือรือร้นในการพัฒนาตนเองและความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ส่วนใหญ่จะแสวงหาโอกาสในการเพิ่มพูนศักยภาพของตน แต่ในบางครั้งเมื่อพนักงานนั้นไม่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งตามที่หวังไว้ หรือพวกเขามองไม่เห็นศักยภาพในการเติบโตกับงานที่ทำอยู่ ก็อาจทำให้พนักงานอาจสูญเสียแรงจูงใจที่จะเติบโต ส่งผลให้พวกเขาอาจหยุดพัฒนาตนเองให้ดีขึ้น และต้องการยุติบทบาทเดิมและแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ในอาชีพของตน
9. การเรียกร้องที่เกินจริง
เมื่อพนักงานกำลังพิจารณาทางเลือกใหม่ๆ ในเส้นทางอาชีพ และมีโอกาสใหม่ๆ ผ่านเข้ามา พวกเขาอาจเรียกร้องผลตอบแทนจากองค์กรเพิ่มมากขึ้น หรือขอเลื่อนตำแหน่ง เพราะพวกเขารู้สึกว่าถูกประเมินความสามารถต่ำกว่าอีกบริษัทที่เสนอให้ และหากการเรียกร้องนั้นได้ผลหรือถูกตอบรับ พวกเขาอาจพิจารณาอยู่กับองค์กรต่อไป แต่หากเป็นตรงกันข้ามพวกเขาก็ย่อมเลือกโอกาสใหม่ๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต
จะเห็นได้ว่าสัญญาณต่างๆ ตามที่กล่าวมา เป็นเพียงขั้นตอนแรกเท่านั้น ที่สามารถช่วยให้ HR และองค์กรสังเกตพฤติกรรมของพนักงานที่แนวโน้มลาออก โดยขั้นตอนต่อไปที่สำคัญก็คือการหากลยุทธ์ในการสร้างแรงจูงใจให้พนักงานทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจะวิธีการใดที่สามารถรักษาพนักงานที่มีคุณค่าต่อองค์กรไว้ เพราะหนทางในการจัดการกับปัญหาที่ดีที่สุด คือการป้องกันไม่ให้ปัญหานั้นเกิดขึ้น เพื่อทำให้มั่นใจว่าพนักงานมีความสุขในการทำงานและพร้อมก้าวไปด้วยกันกับองค์กร
ข้อมูลอ้างอิง:
https://www.aihr.com/blog/flight-risk-employee/?nowprocket=1
https://www.inc.com/john-rampton/25-signs-your-employee-is-about-to-quit-according-to-research.html
https://joinhomebase.com/blog/7-signs-an-employee-is-about-to-quit/