
การให้รางวัลและการยกย่องพนักงานนั้นเป็นสิ่งสำคัญในการดึงดูดพนักงาน สร้างแรงจูงใจในการทำงาน และรักษาพนักงานที่มีค่าต่อองค์กรไว้ได้ แต่หลังจากการระบาด ผลสำรวจจาก Gallup ระบุว่า มีพนักงานเพียง 36 % เท่านั้นที่ส่วนร่วมในงาน และการศึกษาจาก BCG พบว่ารางวัลและการยกย่องนั้นปัจจัยอันดับ 1 ที่ส่งผลต่อการมีส่วนร่วมของพนักงานโดยองค์กรที่ต้องการพัฒนาระบบรางวัลและการยกย่องพนักงานต้องก้าวข้ามผ่านความคิดมาตรฐานที่ใช้กันทั่วไป
ดังที่การศึกษาล่าสุดจาก Deloitte ได้ระบุว่า ระบบรางวัลและการยกย่องพนักงานนั้นไม่ควรมีรูปแบบตายตัว และข้อมูลที่น่าประหลาดใจกว่านั้นคือ ใช่ว่าพนักงานทุกคนจะชื่นชอบการยกย่องชื่นชมที่เปิดเผยต่อสาธารณะหรือในวงกว้าง บางคนอาจชอบเป็นคำบอกกล่าวหรือให้รางวัลเป็นการส่วนตัว WellExp จึงมี 3 แนวโน้มที่สำคัญที่องค์กรควรนำไปพิจารณาสร้างเป็นระบบการให้รางวัลและการยกย่องที่เหมาะสม สำหรับการนำไปใช้ใน 2023 ที่กำลังจะมาถึงนี้
1. การติดตามความคืบหน้าตามเวลาจริงเพื่อพิจารณารางวัลได้อย่างเหมาะสม
การติดตามความก้าวหน้าในรูปแบบเก่า อาจเป็นการถามปากเปล่าหรือการเป็นรายงานกลางที่ประชุม แต่หลังจากรูปแบบการทำงานที่มีความหลากหลายมากขึ้น และสถานที่ทำงานไม่จำกัดอยู่ที่ออฟฟิศเพียงอย่างเดียว ทำให้การติดตามความก้าวหน้าของงานนั้นมีความยุ่งยาก ซึ่งไม่เพียงส่งผลต่อการทำงาน แต่ยังไม่สามารถวัดผลการทำงาน เพื่อให้ผลตอบกลับหรือรางวัลชื่นชมได้อย่างเหมาะสม
แนวโน้มการติดตามความคืบหน้าตามเวลาจริง (Real-time Tracking) เพื่อให้รางวัลแก่พฤติกรรมที่เหมาะสมนั้น จึงเป็นแนวโน้มที่จะเข้ามาอุดรอยรั่วของการติดตามพฤติกรรมพนักงาน และยังเป็นเครื่องมือในการสร้างพฤติกรรมที่เหมาะสมและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้มากขึ้น เพราะการติดตามความคืบหน้าของงานได้ตลอดเวลา จะเป็นข้อมูลให้องค์กรและ HR สามารถนำมาประเมินพนักงาน รู้ถึงข้อมูลพฤติกรรมพนักงาน ทำให้สามารถกำหนดรางวัลตอบแทนที่สมเหตุสมผล เข้ากับพฤติกรรมของพนักงานแต่ละคนในองค์กรได้
2. การใช้กลไกรูปแบบเกม มากระตุ้นแรงจูงใจอย่างต่อเนื่อง
ผลสำรวจล่าสุดจาก Gallup ระบุว่า พนักงานมีความต้องการคำติชมอย่างต่อเนื่องเพื่อตอกย้ำว่าสิ่งที่พวกเขากำลังทำอยู่นั้นมีความสำคัญและมีคุณค่าต่อองค์กร ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายขององค์กรที่ต้องทำความเข้าใจ ว่าประเด็นใดบ้างที่สมควรยกย่องเชิดชูพนักงาน และควรมีความถี่มากน้อยเพียงใดในการให้ผลตอบกลับในสิ่งที่พนักงานได้ทำเพื่อองค์กร
โดยความท้าทายเหล่านี้ สามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวช่วย ไม่ว่าการจดจำและแจ้งเตือนวันสำคัญของพนักงาน การให้รางวัลด้วยคะแนนผ่านภารกิจที่องค์กรได้มอบหมาย เพราะนอกจากจะช่วยลดขั้นตอนความยุ่งยากของการจัดการ ยังเป็นการตอบกลับหรือเป็นการให้รางวัลโดยทันทีและทำได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างแรงจูงใจให้พนักงานได้ทุกวัน ให้การตอบกลับในสิ่งดีดีที่พนักงานได้ทำได้อย่างรวดเร็ว
3. การให้รางวัลเฉพาะบุคคล ตอบโจทย์ความต้องการอย่างแท้จริง
ความชอบของพนักงานแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน เพราะเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดด้วยรสนิยมหรือค่านิยมของแต่ละบุคคล รวมถึงปัจจัยความแตกต่างในด้านอายุ เพศสภาพที่มีหลากหลาย และเชื้อชาติที่เป็นตัววัดวิถีชีวิต การที่องค์กรนั้นเพิกเฉยต่อความจริงด้านความหลากหลายนั้น ส่งผลต่อการมีส่วนร่วมของพนักงาน ความรู้สึกถึงการเป็นหนึ่งเดียวกันกับองค์กร และกระทบไปยังประสิทธิภาพของการทำงาน
รางวัลที่สามารถตอบสนองเฉพาะบุคคล จึงเริ่มเข้ามีบทบาทในโลกของสวัสดิการพนักงานมากขึ้น เพราะเป็นการเข้ามาอุดรอยรั่วของความหลากหลายในหมู่พนักงาน ด้วยวิธีการที่พนักงานแต่ละคนสามารถเลือกสิทธิประโยชน์ที่แต่ละคนต้องการได้ เพื่อตอบโจทย์วิถีชีวิตในแบบต่างๆ นำมาซึ่งแรงจูงใจในการทำงาน จากการที่พนักงานรู้สึกได้ว่า องค์กรนั้นมีความใส่ใจและเสริมสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานได้ทั่วถึงและเข้าใจความต้องการของแต่ละคนได้เป็นอย่างดี
จะเห็นได้ว่า ระบบการให้รางวัลและการยกย่องชื่นชมนั้น สามารถไปได้ไกลกว่าการให้ผลตอบแทนเป็นเงินเดือน โบนัส หรือแบ่งเป็นสัดส่วนตามผลประการที่ตายตัวและมีมาเนิ่นนาน ดังที่งานวิจัยเมื่อไม่นานมานี้ระบุว่า รางวัลในเชิงสัญลักษณ์ สามารถเพิ่มแรงจูงใจที่แท้จริง เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และรักษาพนักงานให้อยู่กับองค์กรได้เพิ่มขึ้น
ข้อมูลอ้างอิง:
https://www.rallyware.com/blog/3-employee-reward-and-recognition-trends-for-2023
Research: A Little Recognition Can Provide a Big Morale Boost (hbr.org)