top of page

สร้างวัฒนธรรมเห็นอกเห็นใจในองค์กรด้วยหลักพรหมวิหาร 4




“ความเห็นอกเห็นใจ” หมายถึง ความรู้สึกเข้าใจ เอาใจเขามาใส่ใจเรา และให้ความสำคัญกับความรู้สึกและจิตใจของกันและกัน


ในปัจจุบันที่เราต่างบอบช้ำจากวิกฤติที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นโรคระบาด ที่อาจคร่าชีวิตคนที่เรารัก การสูญเสียคนในครอบครัวแบบไม่ทันตั้งตัว ปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้ครอบครัวเกิดความขัดสน ภาระบนบ่าที่ต้องแบก แม้จะเหนื่อยแค่ไหน แต่การพักผ่อนในช่วงเวลาสั้น ๆ ก็ไม่อาจทำได้ ทำให้สุขภาพจิต และความรู้สึกของเราต่างอ่อนล้าเป็นอย่างมาก

การเห็นอกเห็นใจกันในองค์กรถือเป็นเรื่องสำคัญอันดับแรก ๆ เลยก็ว่าได้ ณ ช่วงเวลานี้ เพราะเราต่างเป็นมนุษย์ มีชีวิตจิตใจ ไม่ใช่เครื่องจักรที่สามารถทำงานได้อย่างไม่เหน็ดเหนื่อย และไม่มีวันพัก ฉะนั้นการบริหารที่ดีควรควบคู่ไปกับความเห็นอกเห็นใจเพื่อพัฒนาให้องค์กรเดินไปได้ อย่างไม่มีการทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ความเห็นอกเห็นใจช่วยสร้างการมีส่วนร่วมและความสัมพันธ์ที่ดีในองค์กรได้

เมื่อเราต่างเห็นใจกัน เมื่อนั้นเราจะเข้าใจกันมากขึ้น และที่สำคัญเลยจะช่วยลดความเครียด และหาทางออกให้พนักงานได้อย่างมีความสุข สิ่งที่จะตามมาคือความเชื่อใจ ความรู้สึกมั่นใจ และรู้สึกอยากมีส่วนร่วมมากขึ้น เพราะความเห็นอกเห็นใจแสดงให้เห็นถึงความเป็นทีมเวิร์ค และพร้อมจะไปด้วยกันได้ทุกเมื่อ

ดังนั้นแล้วหากองค์กรมีทีมที่แข็งแกร่ง ผลลัพธ์และประสิทธิภาพงานก็จะออกมาดีอย่างแน่นอน

การสร้าง Empathethic Culture ด้วยหลักพรหมวิหาร 4

ในตอนนี้หลายคนอาจจะเริ่มกลับมาสำรวจตัวเองแล้วว่า

"ที่ผ่านมา เราเข้าใจคนอื่นดีพอหรือยังนะ”


"ที่ผ่านมาเราใจร้ายกับลูกน้อง หรือเพิกเฉยต่อความทุกข์ของเขาไปหรือเปล่านะ”


หากเราเริ่มฉุกคิด ก็แปลว่าไม่สายที่เราจะเริ่มสร้างวัฒนธรรมแบบเห็นอกเห็นใจในองค์กร


ดูแลพนักงานด้วยใจ “เมตตา”

การดูแลพนักงานด้วยใจเมตตาหมายถึง ความปรารถนาดี ต้องการให้เกิดความสุขทั้งกายและใจ พร้อมทั้งให้การสนับสนุนและให้คำปรึกษาอย่างเต็มที่ การมีใจเมตตาจะทำให้บรรยากาศการทำงานเป็นสุข และเต็มไปด้วยความ positive บรรยากาศการทำงานที่สุขใจ แน่นอนล่ะว่า พนักงานก็อยากให้ความร่วมมือและอยากมาทำงานแน่ ๆ

เมื่อพนักงานทุกข์ใจ องค์กรช่วยแก้ไขด้วยความ “กรุณา”

กรุณา หมายถึง ความต้องการให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ ในฐานะองค์กร ข้อนี้ถือว่าสำคัญอย่างยิ่งในยุคนี้ เพราะความเครียด ความทุกข์ของพนักงานเพิ่มขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัยเพราะวิกฤติในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงและวิธีการทำงานที่เปลี่ยนอย่างฉับพลันก็อาจมีส่วนสร้างความทุกข์เช่นเดียวกัน ฉะนั้นแล้ว หากองค์กรและหัวหน้าสามารถช่วยแก้ปัญหา ไม่ทิ้งพนักงานไว้ข้างหลังแบบโดดเดี่ยว ก็จะสร้าง empathetic culture ให้เกิดขึ้นได้ ทั้งยังรักษาพนักงานในองค์กรได้นานขึ้นอีกด้วย

มี “มุทิตา” จิต ยินดีในความสำเร็จและเรื่องดี ๆ ของพนักงาน

การที่พนักงานพบเจอเรื่องน่าดีใจ และพบว่าคนรอบตัวต่างดีใจพร้อมไปกับเขา และมองความสำเร็จของพวกเขาด้วยความชื่นชม จะทำให้เขารู้สึกว่าองค์กรมีความใส่ใจ และเพิ่มความรู้สึกเห็นคุณค่าในตัวเองได้ ข้อดีอีกข้อคือเป็นการเติมไฟและพลังในการทำผลงานดี ๆ ออกมาอีกแน่นอน

ไม่เอนเอียง บริหารด้วยความเป็นธรรมตามหลัก “อุเบกขา”

การแบ่งพรรคแบ่งพวกในองค์กร ถือเป็นเรื่องที่สร้างความทุกข์และก่อให้เกิดความท้อแท้ชั้นดีของคนในองค์กร ดังนั้นหากองค์กรมีการบริหารที่เที่ยงตรงไม่เอนเอียง ให้การซัพพอร์ตทุกคนอย่างเท่าเทียม พนักงานก็จะรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่ถูกแบ่งแยก

ในสภาพสังคมที่เต็มไปด้วยความตึงเครียด ความเห็นอกเห็นใจเล็ก ๆ น้อย ๆ บางครั้งก็สร้างการเยียวยาที่ยิ่งใหญ่ในจิตใจพนักงานได้

หากองค์กรให้ความสำคัญกับ Culture of Empathy ก็จะสามารถสร้างองค์กรที่มีความสุข รักษาคนในองค์กรได้นานยิ่งขึ้น ที่สำคัญจะทำให้ “เรา” ก้าวไปข้างหน้าด้วยกันอย่างแท้จริง



แหล่งข้อมูล : https://giveandtakeinc.com/blog/leadership/3-ways-a-culture-of-empathy-brings-out-the-best-in-employees/

: https://www.tewfree.com/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A34/

bottom of page