top of page

ควรรับมืออย่างไร? เมื่อทีมงานมีปัญหากัน

อัปเดตเมื่อ 3 พ.ย. 2564


แม้ว่าปัญหาภายในองค์กร จะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ แต่หนึ่งในสถานการณ์ที่คนเป็นหัวหน้าไม่ค่อยอยากเจอเท่าไรนัก คือการที่คนในทีมมีปัญหากัน ซึ่งบางครั้งก็เกิดจากปัญหาในเนื้องาน แต่หลายครั้งก็ลามไปจนกลายเป็นเรื่องส่วนตัว กลายเป็นการบาดหมางขุ่นเคืองกัน ซึ่งแน่นอนว่าจะไม่ใช่เรื่องดีแน่นอนหากต้องทำงานร่วมกัน และนั่นทำให้คนเป็นหัวหน้าอาจจะต้องลงมาจัดการก่อนที่จะสายเกินแก้ ซึ่งในเบื้องต้นอาจจะสามารถจัดการได้ดังนี้


1. สำรวจและประเมินสถานการณ์

ขั้นตอนแรก ที่ควรทำเสียก่อนคือการประเมินดูว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนั้นรุนแรงแค่ไหน เป็นความขัดแย้งชั่วคราวที่มีแนวโน้มจะหายไปเอง หรือเป็นการขุ่นเคืองที่สะสมกันมานานจนกลายเป็นการฝังใจ สร้างให้เกิดอคติต่อทั้งสองฝ่ายไปแล้ว ซึ่งนั่นจะนำมาสู่ว่าจะต้องแก้ไขด้วยวิธีการใด


2. สอบถามและพูดคุยกับคู่กรณี

ด้วยบทบาทของการเป็นผู้นำแล้ว การเข้ามารับทราบปัญหานั้นเป็นสิ่งที่ต้องทำ และก็ควรเริ่มด้วยการพูดคุยกับคู่กรณีทั้งสองฝ่าย เพื่อฟังความรอบด้านว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ละฝ่ายมีมุมมองอย่างไร สาเหตุของปัญหามาจากตรงไหน การเปิดใจรับฟังอย่างเป็นกลาง และ แสดงให้ทั้งสองฝ่ายสามารถมั่นใจได้ว่าผู้เป็นหัวหน้ายินดีรับฟังนั้น จะช่วยได้มองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจนมากขึ้น


3. อย่าเข้าข้างใคร

ด้วยบทบาทของการเป็นหัวหน้า และคนกลางที่เข้ามาควบคุมสถานการณ์นั้น การออกตัวเข้าข้างใคร หรือ แก้ต่างให้ใคร ยังไม่ใช่เรื่องที่เหมาะสม และนั่นทำให้คนที่อยู่ในบทบาทนั้นจะต้องระมัดระวังในการกระทำต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเรียกคู่กรณีมาคุยกัน การให้ความเห็นต่างๆ เพื่อเลี่ยงการโดนครหาว่าเข้าข้างใครเป็นพิเศษ ให้ท้ายฝั่งไหน และถ้ามีการกระทำใดที่มีความเสี่ยงจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดใดๆ แล้วก็ต้องเลี่ยงให้มากที่สุด มิฉะนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นจะไม่สามารถแก้ไขได้อย่างถาวร และ เกิดความเข้าใจกันอย่างแท้จริง


4. แก้ในส่วนที่อยู่ในอำนาจ

ถ้าหากเป็นปัญหาส่วนตัวแล้ว บางอย่างอาจจะอยู่นอกเหนือสิ่งที่หัวหน้าทีมสามารถแก้ไขได้ แต่หากเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการทำงาน ปัญหาเรื่องความไม่เคลียร์ในเนื้องาน หรือผลที่เกิดขึ้นในกระบวนการทำงานนั้น หัวหน้าทีมควรพิจารณาดูว่าสามารถแก้ไขอะไรได้บ้างเพื่อลดการกระทบกระทั่งกันที่กลายเป็นความขัดแย้ง หรือสามารถเข้าไปปรับความเข้าใจเพื่อให้ทุกฝ่ายโอเคกับการแก้ไข อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องระวังคือการพยายามควบคุมและจัดการในสิ่งที่อยู่ในอำนาจตัวเอง อย่าก้าวข้ามไปสู่เรื่องส่วนตัวโดยไม่จำเป็นเพราะอาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิด และทำให้บทบาทของตัวเองนั้นไม่ชัดเจนขึ้นมาได้


5. ให้โอกาสและตักเตือนอย่างระมัดระวัง

แน่นอนว่าหลายสถานการณ์นั้น มีคนผิดและคนที่ต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น ซี่งคนเป็นหัวหน้าก็ต้องมีหน้าที่ว่ากล่าวตักเตือน และนั่นก็ต้องระมัดระวังในการทำเรื่องดังกล่าว เช่นไม่ควรจะตักเตือนต่อหน้าคนหมู่มาก ควรเป็นการพูดคุยในที่ลับ ยังคงความให้เกียรติ และ รักษาความรู้สึกเพื่อการทำงานร่วมกันในอนาคต ปรับความเข้าใจอย่างใช้เหตุผล แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องรู้จักให้โอกาสกับผู้ที่ทำผิดอย่างเหมาะสมด้วยเช่นกัน

ท้ายนี้ แม้ปัญหาภายในทีม จะเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ แต่หากหัวหน้าทีมมีความใส่ใจ ช่างสังเกต และสามารถมองเห็นพฤติกรรมที่แปลกไป ของลูกทีมได้แต่เนิ่นๆ ก็จะช่วยให้ปัญหาไม่บานปลาย และ สามารถแก้ไขได้ทันเวลา ก่อนที่จะส่งผลกระทบต่อการทำงานร่วมกัน

bottom of page