
ปัจจุบัน การทำสวัสดิการแบบยืดหยุ่น (Flexible Benefits) นั้นเริ่มเป็นที่นิยมและได้รับการพูดถึงในวงกว้างขึ้น โดยเฉพาะกับกลุ่มบริษัทที่เริ่มต้องรับพนักงานในกลุ่ม Gen-Y / Gen-Z มากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าการทำ Flexible Benefits นั่นให้ประโยชน์หลายอย่างกับองค์กรเลยทีเดียว
1. เพิ่มศักยภาพในการรับสมัครพนักงาน
แน่นอนว่าค่าตอบแทน ผลประโยชน์ และสวัสดิการเป็นสิ่งสำคัญในการตัดสินใจทำงานของพนักงานในองค์กร ซึ่งการแข่งขันของแต่ละองค์กรเพื่อดึงตัวพนักงานที่มีความสามารถก็มักจะใช้เรื่องผลประโยชน์เหล่านี้มาต่อรอง การทำ Flexible Benefits เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งในการปรับสวัสดิการบางอย่างเพื่อให้ดึงดูดกับกลุ่มเป้าหมายบางกลุ่ม เช่นการให้สวัสดิการอื่นทดแทน กรณีพนักงานไม่ได้ใช้วันลาพักร้อน หรือการให้สวัสดิการคุ้มครองครอบครัวเพิ่มเติม ซึ่งการปรับสวัสดิการเหล่านี้ให้เหมาะกับสถานะและกลุ่มพนักงาน ก็ย่อมช่วยเพิ่มความน่าสนใจ เพื่อให้พนักงานทำงานกับองค์กรได้นั่นเอง
2. การให้พนักงานได้มีสิทธิ์ตัดสินใจเลือกสวัสดิการของตัวเอง
ความรู้สึกที่ได้เป็นคนเลือก เป็นคนควบคุม เป็นอิสระที่จะตัดสินใจเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้พนักงานลดอคติเกี่ยวกับการว่าจ้างจากองค์กรได้ การทำ Flexible Benefits จึงเป็นการเปิดทางให้พนักงานเลือกปรับ เปลี่ยน และตัดสินใจเกี่ยวกับสวัสดิการต่างๆ เพื่อให้เหมาะกับตัวเองมากที่สุด และลดแนวความคิดทำนองว่า “ไม่มีตัวเลือก” หรือ “โดนบังคับ” จากองค์กรไป
3. ไม่ต้องพยายามสร้างแผนสวัสดิการที่สมบูรณ์
องค์กรแต่ก่อนอาจจะพยายามสร้างแพคเกจของสวัสดิการที่สมบูรณ์แบบใช้กับทุกคน ซึ่งนั่นนำไปสู่การพยายามเพิ่มสวัสดิการในทุกๆ อย่าง ในทุกๆ ด้านเพื่อหวังว่าจะครอบคลุมและตรงใจกับพนักงานทุกคนซึ่งในความเป็นจริงแล้วทำได้ยากโดยเฉพาะกับองค์กรที่ไม่ได้มีเงินทุนมากนัก การทำแผน Flexible Benefits จึงเป็นทางเลือกที่ดีมากกับการทำให้องค์กรสามารถสร้างแผนสวัสดิการที่เหมาะกับพนักงานแต่ละกลุ่มได้โดยที่เป็นที่พึงพอใจและไม่สิ้นเปลืองสวัสดิการบางอย่างซึ่งไม่จำเป็นกับคนบางกลุ่มนั่นเอง
4. สร้างความรู้สึกที่ดีต่อองค์กร
เมื่อองค์กรเลือกที่จะใช้ระบบสวัสดิการแบบยืดหยุ่น แน่นอนว่าพนักงานเป็นผู้ได้รับประโยชน์สูงสุด และรู้สึกว่าองค์กรมีความเข้าใจ และ คำนึงถึงผลประโยชน์ที่พนักงานจะได้รับอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงแค่มีสวัสดิการให้เพราะ “ต้องมี” เท่านั้น ภาพลักษณ์ที่พนักงานมองเห็น ความรู้สึกที่พนักงานมีต่อองค์กร ก็จะเป็นสิ่งที่พนักงานมีความรู้สึกประทับใจมากขึ้น และพร้อมที่จะทุ่มเทในการทำงานเพื่อเติบโตไปด้วยกันกับองค์กรที่เขารัก

นอกจากสี่ข้อหลักๆ ที่เราหยิบมาเป็นตัวอย่างแล้ว การทำ Flexible Benefits ยังมีประโยชน์อื่นๆ อีกหลายอย่างเช่นการสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างองค์กรและพนักงาน หรือการรักษาพนักงานเดิมขององค์กร ฯลฯ ซึ่งนั่นล้วนเป็นเหตุให้ Flexible Benefits ได้รับความนิยมและหลายๆ องค์กรก็เริ่มมีการปรับใช้แล้วกันในปัจจุบันนั่นเอง