
การจะบริหารทีมให้มีประสิทธิภาพนั้น สิ่งที่ผู้บริหารต้องมีเพิ่มเติม คือการใส่ใจรายละเอียดในหลายๆ กิจกรรมที่ตัวเองต้องร่วมกับคนในทีม เพราะเราก็ต้องไม่ลืมว่าคนในทีมนั้น ล้วนคาดหวังกับผู้บริหารเช่นกัน ซึ่งถ้ากิจกรรมในธุรกิจที่ผู้บริหารมีกับคนในทีมทำออกมาไม่ได้ดีแล้ว ก็อาจจะมีผลกับเรื่องภาพลักษณ์ กลายเป็นสร้างอคติหรือตั้งแง่กับตัวผู้บริหารเอาได้ง่ายๆ เช่น
1. บริหารการประชุม
หนึ่งในกิจกรรมที่ทำกันเยอะที่สุดในที่ทำงานก็คือการประชุม ซึ่งหลายครั้งที่ผู้บริหารหรือหัวหน้าทีมจะเป็นคนสำคัญในห้องประชุม แน่นอนว่านั่นทำให้บทบาทของการนำประชุม ควบคุมการประชุม ตลอดไปจนถึงการให้ความเห็นต่างๆ เพราะถ้าผู้บริหารจัดการตรงนี้ไม่ได้ดี ไม่มีประสิทธิภาพแล้ว ก็อาจจะทำให้หลายๆ คนไม่อยากเข้าร่วมประชุมด้วย บ้างก็มองว่าถ้ามีการประชุมกับผู้บริหารคนนี้ก็จะกลายเป็นการเสียเวลาไปเสีย ซึ่งนั่นคงเป็นสิ่งที่หลายคนคงไม่อยากให้เกิดขึ้นเป็นแน่
2. การมอบหมาย / ติดตามงาน
การมอบหมายงานคนในทีมเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ต้องระมัดระวังและบริหารให้ดี เพราะถ้าผู้บริหารจัดสรรงานและความรับผิดชอบได้อย่างลงตัวแล้ว นอกจากจะทำให้งานออกมามีประสิทธิภาพ ก็จะสามารถช่วยให้คนในทีมได้แสดงศักยภาพของตัวเองออกมาได้เต็มที่ สร้างความรู้สึกที่ดีกับทั้งต่อตัวเองและองค์กร
แต่ถ้าทำออกมาไม่ดีก็อาจจะทำให้เกิดการนินทา การมองว่าไม่ยุติธรรมเช่นเอางานง่ายๆ ให้คนนั้น และเอางานยากๆ ให้คนนี้ แล้วก็จะตามมาพร้อมกับอคติต่างๆ ต่อตัวผู้บริหารเอง นอกจากนี้แล้ว เมื่อมีการมอบหมายงานไปนั้นก็ต้องมีการติดตามด้วย เพราะหากเป็นการสั่งงานไปแล้วไม่ได้สนใจ ไม่ได้มีการติดตามอะไรก็อาจจะทำให้คนไม่เห็นความสำคัญของคำสั่งต่างๆ ของตัวผู้บริหารเองเช่นกัน
3. การให้ความดีความชอบ / การว่ากล่าวตักเตือน
เมื่อเป็นผู้บริหารแล้ว การบริหารคนก็เป็นเรื่องที่สำคัญมาก โดยเฉพาะเมื่อเราต้องเจอสถานการณ์ที่ต้องประเมิน หรือ พิจารณาว่าคนในทีมมีผลการทำงานอย่างไร แน่นอนว่าถ้าเป็นการทำงานแล้วได้ตามเป้า ทำผลงานได้ดีแล้ว ก็อาจจะเป็นเรื่องไม่ยากนักเมื่อต้องกล่าวชม ให้กำลังใจ
แต่ก็ต้องระวังด้วยเช่นกันว่าการออกหน้าออกตาที่มากเกินไปก็อาจจะทำให้เกิดความอิจฉาริษยาหรือความไม่พอใจกับคนอื่นๆ ด้วยเหมือนกัน เช่นเดียวกับที่อาจจะทำให้เกิดการเมืองในบริษัทตามมาได้ ในทางกลับกันนั้น เมื่อเป็นการทำผิดพลาด ไม่เป็นไปตามเป้าหมายแล้ว การว่ากล่าวตักเตือนก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ผู้บริหารก็ต้องดำเนินการให้ดี เพราะอาจจะส่งผลต่อจิตใจของผู้โดนตักเตือนหรือเข้าใจผิดหากไม่ได้รับการอธิบายที่ถูกต้องนั่นเอง

ตัวอย่างทั้ง 3 เรื่อง ดูเหมือนเป็นเพียงเรื่องเล็กๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับความสามารถในการทำงานโดยตรงของผู้บริหาร หากแต่เกี่ยวข้องกับการสื่อสาร และ การรักษาน้ำใจ การรักษาสภาพจิตใจของผู้ร่วมงานซึ่งมีความจำเป็นไม่แพ้ความสามารถในการทำงาน หากผู้บริหารมีความเข้าใจว่า ขวัญและกำลังใจของทีมเป็นสิ่งสำคัญ ก็จะทำให้การร่วมมือร่วมใจในการทำงาน เกิดขึ้นได้ง่ายขึ้น